กรรมการปฏิรูปการศึกษา

กรรมการปฏิรูปการศึกษา 3 กลไก พลิกโฉมบรรทัดฐานโลกยุคเก่า

รศ.ดร.วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่าหลักสูตรการศึกษาของไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งความรู้จากตำราในรูปแบบเดิมนั้นไม่เพียงพอ ต่อทักษะการทำงานและการดำเนินชีวิตในอนาคต สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งเสริมสร้างให้เยาวชนคือสมรรถนะหรือความสามารถในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ หรือบิ๊กร็อกที่ 2 เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ ผ่าน 3 กลไกหลัก ได้แก่ ผู้เรียน ครูผู้สอน และผู้บริหารสถานศึกษา

“ผู้เรียน” ต้องรับรู้ว่าตนเองจะถูกประเมินทักษะใหม่ๆ นอกเหนือจากการทดสอบความรู้รายวิชาเรียน เช่น ทักษะการทำงานร่วมกับเพื่อน การคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์

“ครูผู้สอน” ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตร สามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ ไปจนถึงการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง

“ผู้บริหารสถานศึกษา” ต้องมีสมรรถนะในการบริหารงานวิชาการและการนิเทศการจัดการเรียนรู้ กำหนดมาตรฐานการประเมินของครูผู้สอน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในโรงเรียน

กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา

สำหรับการประเมินวัดผลของหลักสูตรฐานสมรรถนะได้กำหนดไว้ว่า ผู้เรียนต้องได้รับการพัฒนาสมรรถนะเพื่อนำไปใช้ต่อยอดในอนาคต โดยไม่ขึ้นกับเนื้อหาสาระของศาสตร์ใดๆ รวมถึงจำนวนชั่วโมงเรียน ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้ผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะในขั้นทดลองใช้ผ่าน “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” กรอบเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565-2567

“การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะนั้นไม่สามารถสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น และต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับเพื่อพัฒนากรอบหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงผู้ปกครองที่ต้องเข้าใจว่าในอนาคต เกรดเฉลี่ยจะไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดสมรรถนะของเด็กได้ นอกจากนี้แล้วยังต้องส่งเสริมแนวคิด Unlearn และ Relearn ให้ผู้เรียน คือการไม่ยึดติดและละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อน เพราะบางเรื่องที่เคยเรียนรู้มาแล้วนั้น อาจหมดอายุไปแล้วไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงการพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ” รศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ muskie-lures.com

Releated